วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ท่องเที่ยวเรียนรู้ ตามรอยหมูดุด...ที่อ่าวคุ้งกระเบน


หมูดุด  หรือเจ้าพะยูนที่แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นสัญลักษณ์ของอ่าวคุ้งกระเบนไปแล้วล่ะค่ะ  เพราะเคยเป็นถิ่นของมัน แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันแทบไม่มีให้พบเห็นแล้ว เบียได้ข่าวมันล่าสุดก็ช่วงตอนอยู่ ม. 2 ไปเข้าค่ายที่อ่าวคุ้งกระเบนนี่แหละค่ะ แล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกข่าวดีว่าช่วงสัปดาห์ที่เรามามีเจ้าพะยูนน้อยเข้ามาป้วนเปี้ยนแถวปากอ่าว  แสดงให้เห็นถึงสภาพนิเวศน์ของป่าชายเลน สภาพของหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของมันที่เริ่มดีขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้มันจะเป็นยังไงบ้างนะคะ  เพราะไปมาล่าสุดก็ไม่มีใครพูดถึงมัน  ก็ได้แต่หวังว่าสภาพนิเวศน์ป่าชายเลนและหญ้าทะเลจะอุดมสมบูรณ์ขึ้น สักวันเจ้าหมูดุดพวกนี้จะได้กลับคืนสู่บ้านของมันนะคะ

อ่าวคุ้งกระเบน หรือศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นที่เที่ยว ที่ทัศนศึกษาที่เบียร์คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กเลยล่ะค่ะ ไปนับครั้งแทบไม่ถ้วน  ตอนเด็กๆพ่อจะชอบพาไปทะเลและเดินดูป่าชายเลน  คุณครูก็จะชอบพาไปทัศนศึกษาที่นี่เพราะมีสิ่งน่าสนใจให้เรียนรู้มากมายเลยล่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตสัตว์ ชีวิตต้นไม้ ระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลกันและสัตว์ที่น่าสนใจ  อย่างเช่น ปูก้ามดาบ ตอนเด็กๆไปอ่านป้ายเห็นแค่ชื่อก็น่าสนใจแล้วล่ะค่ะ  แล้วเบียร์กับน้องก็ชวนกันออกตามหาปูก้ามดาบ  พอเห็นไอ้ตัวที่เหมือนในรูปก็รีบตะโกนบอกกัน นี่ไงๆเจอแล้ว ปูก้ามดาบ  แล้วก็เอาไม้ไปแหย่มัน  น่าสงสาร TT นี่แหละค่ะชีวิตแบบเด็กๆชอบแกล้งสัตว์  เห็นอะไรแปลกๆเป็นไม่ได้ 555+  

เกริ่นมาขนาดนี้แล้วหลายๆคนคงอยากจะมาเที่ยวที่นี่บ้างแล้วใช่มั๊ยล่ะคะ การเดินทางมาก็ไม่ยากเลยล่ะค่ะ ถ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ ให้ใช้ถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกค่ะ  ตามป้ายมาทางจังหวัดจันทบุรี กระทั่งถึงช่วงกิโลเมตรที่ 301-302  ให้เลี้ยวขวาที่แยกหนองสีงา จากนั้นตรงเข้ามาตามเส้นทางหลักเรื่อยๆ อีกประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งจะผ่านทั้งวัดวังหิน วัดรำพัน วัดท่าศาลา และเมื่อถึงทางแยกที่ตัดกับทางจะไปคุ้งวิมาน ก็ให้เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าตรงไปซักพัก จะเจอวงเวียนพะยูนเล่นน้ำ ให้เลี้ยวขวาเดินทางไปตามเส้นทางมุ่งหน้าสุ่แหลมเสด็จ ตรงไปเรื่อยๆจะพบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนค่ะ ความจริงมาได้หลายเส้นทางตามแผนที่เลยค่ะ แต่เส้นทางที่เบียร์แนะนำจะสะดวกสุด ไม่ค่อยอ้อมค่ะ การเดินทางมาค่อนข้างสะดวกเพราะมีป้ายบอกตลอดทาง และมีจุดสังเกตได้ง่าย เพราะฉะนั้นเบียขอพาทัวร์เลยนะคะ ^^  แต่ก่อนอื่นเบียร์ขอพาไปรู้จักกับประวัติความเป็นมาของการศูนย์การศึกษานี้กันก่อนนะค่ะ

ประวัติความเป็นมา


ศูนย์การศึกษานี้ได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคราวที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 โดยมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มีสาระสำคัญว่า"ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตร
ในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล จังหวัดจันทบุรี"  และได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนริเริ่มดำเนินการ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม 
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สาระโดยสรุปว่า... ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล โดยมีวัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน
2. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ให้แก่ส่วนราชการและภาคเอกชนทั่วไป
3. เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ อาชีพของราษฎรบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบน และ พื้นที่ใกล้เคียง โดยมุ่งเน้นพัฒนาช่วยเหลือราษฎรที่มีฐานะยากจน
4. เพื่อพัฒนาด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของประเทศ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านการประมง ตลอดจนพัฒนากิจกรรม ทางด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย
5. เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมและดุลยภาพทางธรรมชาติให้คงลักษณะพิเศษของพื้นที่เอาไว้

จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและพิจารณาความเหมาะสมจึงกำหนดพื้นที่
ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ตั้งแต่
ปี พ.ศ.2525 ศูนย์ศึกษาดังกล่าว เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิต และการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล โดยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงานเพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป
เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริและสนับสนุนในการสร้างศูนย์การเรียนรู้นี้ขึ้นมา  ให้พสกนิกรได้ศึกษา พัฒนาอาชีพ ยกระดับความเป็นอยู่ และอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ  ปลูกจิตสำนึกให้กับลูกหลานให้รู้จักรักษ์ป่า รักสัตว์ รักธรรมชาติ  เบียร์ก็เป็นเด็กคนหนึ่งค่ะที่ถูกปลูกฝังให้รักษ์ป่า รักธรรมชาติจากที่นี่  

พาทัวร์

อ่าวคุ้งกระเบน เป็นหาดต่อเนื่องกับหาดแหลมเสด็จ มีหาดทรายที่ขาวสะอาดตา บรรยากาศร่มรื่น พื้นที่ภายในอ่าวมีลักษณะเป็นชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและที่เพาะพันธุ์ของบรรดาสัตว์นํ้าเล็กๆ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลน และรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ทราบความสำคัญของป่าชายเลนว่านอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งแล้วยังทำให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างยั่งยืน เป็นที่อาศัยของสัตว์นํ้า และแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่ง สมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย

เห็นมั๊ยล่ะคะว่าที่นี่มีความน่าสนใจหลายด้าน มีอะไรให้ศึกษามากจริงๆ  เบียร์มาแต่ละครั้งก็ได้ความรู้ที่ต่างกันออกไปทุกครั้ง ซึ่งในที่นี้เบียร์จะขอนำมาบูรณาการให้เข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ ในหน่วยการเรียนรู้ ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม เรื่อง ระบบนิเวศป่าชายเลน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นะคะ โดยเบียร์มีแนวคิดว่าอยากให้นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ การพึ่งพาอาศัยกันของคน สัตว์และต้นไม้   นักเรียนสามารถเข้าใจได้ว่าไม้หลากชนิดในป่าชายเลนเกื้อกูลกันอย่างไร และมีประโยชน์กับเราอย่างไร เช่น ลำพูทะเล ที่งอกได้ดีในดินปนทราย จะเป็นผู้สะสมดินเลนทะเลเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ไม้อื่นได้งอก  โดยจะจัดกรรมให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกลุ่มละ  5-6   และมอบหมายภารกิจให้ผู้เรียนทำป้ายนิเทศ เรื่องระบบนิเวศน์ในป่าชายเลน ซึ่งผู้เรียนจะยกตัวอย่างระบบนิเวศน์ใดก็ได้ให้ไปปรึกษาตกลงกันเอง  จากนั้นจึงพาผู้เรียนไปเดินทัศนศึกษาในป่าชายเลน อาจจะมีวิทยากร  หรือตัวครูเป็นผู้บรรยาย  ให้ความรู้ผู้เรียนไปด้วยเพื่อให้ผู้เรียนได้เก็บข้อมูล  หลังจบการทัศนศึกษาก็ให้ผู้เรียนกลับไปทำป้ายนิเทศมานำเสนอและอภิปรายกันในคาบถัดไป 




ผลที่คาดว่าจะได้รับด้านเจตคติ 

1.ให้ผู้เรียนมีความทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยเล่าถึงประวัติความเป็นมา

2.ให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด รักษ์ธรรมชาติ  โดยสอดแทรกเรื่องราว ความผูกพันธ์คนกับป่่าชายเลน ความสำคัญของป่าชายเลน  
3. มีวินัย  ในการรักษาเวลา ในการทำกิจกรรม  และปฏิบัติตามกฎของสถานที่
4. ใฝ่เรียนรู้  ในการศึกษาหาข้อมูล 
5. มุ่งมั่นในการทำงาน ในการทำภารกิจที่มอบหมายให้สำเร็จ
6. มีความสามัคคี ในการทำงานเป็นทีม

ด้านทักษะหรือกระบวนการต่าง ๆ 

1.กระบวนการในการคิดเชื่ิอมโยงข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกันว่าสัตว์แต่ละอย่าง  ต้นไม้แต่ละชนิดมีความเชื่อมโยง พึ่งพาอาศัยกันอย่างไร 
2.ทักษะในการแสวงหาความรู้  ข้อมูลตามป้ายต่างๆ  ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
3.กระบวนในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  ในการรู้บทบาทหน้าที่ และช่วยเหลือกันในการทำงานร่วมกัน 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.haii.or.th/wiki84/index.php/ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น